ความรู้สึกของความเป็นแม่อาจจะยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งลูกน้อยในครรภ์ดิ้นให้คุณแม่รู้สึกได้ ตอนนั้นคุณแม่จะตระหนักได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตน้อย ๆ อยู่ภายในตัวเรา ในคุณแม่ครรภ์แรกจะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ (หรือ 4 เดือนครึ่งนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ส่วนคุณแม่ในครรภ์หลังที่เคยคลอดลูกมาแล้วจะรู้สึกว่าลูกดิ้นไวกว่าเมื่อมีอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ (หรือ 4 เดือน) ในความเป็นจริงแล้วลูกจะเริ่มดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ ประมาณ 6-8 สัปดาห์แล้วล่ะครับ (ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวเบา ๆ แต่บ่อยมาก) แต่ในช่วงนี้คุณแม่จะยังไม่สามารถรู้สึกหรือรับรู้ได้ เพราะขนาดมดลูกยังเล็กอยู่ ปริมาณน้ำคร่ำยังมีน้อย และแรงดิ้นของลูกยังเบาเกินไปจนไม่สามารถส่งผ่านไปยังผนังหน้าท้องให้คุณแม่รู้สึกได้ หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหนูของเรายังตัวเล็กและในโพรงมดลูกของแม่ก็ยังมีช่องว่างมากพอที่จะให้เขากลับตัวไปมาได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่กระทบกับผนังมดลูกก็เป็นไปได้เช่นกันครับ ลูกจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ระบบกล้ามเนื้อแขนขาจะมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ จนสามารถมองเห็นเป็นรูปร่างปกติได้เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่มาเลี้ยงแขนขาอย่างต่อเนื่อง ลูกจึงสามารถขยับแขนขาไปมาอยู่ในน้ำคร่ำได้ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ลูกก็จะเคลื่อนไหวน้อยลง แต่แรงมากขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้ได้ว่าลูกดิ้น เพราะหน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น มดลูกมีขนาดโตขึ้นจนมาชนกับผนังหน้าท้อง มีปริมาณน้ำคร่ำมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเจ้าตัวน้อยก็โตมากขึ้นด้วย จนทำให้พื้นที่ว่างในโพรงมดลูกจำกัดลงไป พอขยับแขนขาเมื่อไหร่ก็จะกระทบกับผนังมดลูกทุกครั้ง คุณแม่จึงรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อยและแรงขึ้น (แต่คุณแม่บางคนอาจจะยังสับสนอยู่และคิดว่าความรู้สึกที่ดิ้นนั้นเป็นเสียงท้องร้องหรือมีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป)