Jiraporn  Phanjobsing profile icon
SilverSilver

Jiraporn Phanjobsing, Thailand

ผู้ใช้งาน

About Jiraporn Phanjobsing

คุณแม่ of 2 สุดน่ารัก

My Orders
Posts(10)
Replies(25)
Articles(0)
เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปและมักไม่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่พบในเด็กแรกเกิดหรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยจะส่งผลให้ผิวหนังและตาขาวของทารกมีสีเหลือง สาเหตุเกิดจากการมีสารบิลิรูบินหรือสารที่ให้สีเหลืองในเลือดสูงเกินไป เนื่องจากตับของเด็กแรกเกิดยังเจริญเติบโตไม่มากพอที่จะกำจัดสารบิลิรูบินและขับออกทางลำไส้ใหญ่ได้ โดยมากภาวะนี้จะหายไปเองเมื่อตับของเด็กพัฒนาขึ้น แต่ทารกบางรายอาจมีภาวะตัวเหลืองมากกว่าปกติ (Pathologic Jaundice) ซึ่งระดับบิลิรูบินที่สูงมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองอย่างถาวร หรือหากมีภาวะตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้  อาการเด็กตัวเหลือง เด็กแรกเกิดมักเริ่มมีภาวะตัวเหลืองและตาเหลืองในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด โดยอาการเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และอาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้ ตาขาวเป็นสีเหลือง เหงือกเหลือง ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองที่รุนแรงอาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการมีสารบิลิรูบินในเลือดมากเกินไปได้ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้ มีไข้สูง ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แขน ขา และท้องเหลือง เซื่องซึม เฉื่อยชา ร้องไห้เสียงแหลม ตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์ มีอาการอื่น ๆ ที่น่าวิตกกังวล สาเหตุของเด็กตัวเหลือง ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากระดับสารบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองในเลือดที่สูงมากเกินไป โดยสารนี้เกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายแตกตัว ในภาวะปกติ บิลิรูบินในกระแสเลือดจะถูกส่งไปที่ตับและขับออกทางอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิด ตับจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้รวดเร็วพอ นอกจากนี้ ภาวะเด็กตัวเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน มีดังนี้ คลอดก่อนกำหนด ทารกอาจตัวเหลืองหากคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การได้รับนมแม่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตัวเหลืองได้ โดยสาเหตุนั้นไม่แน่ชัด บางทฤษฎีคาดว่าในน้ำนมแม่อาจมีสารบางอย่างที่ส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนสารบิลิรูบินที่ตับบกพร่อง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรหยุดให้นม เนื่องจาก นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด และภาวะตัวเหลืองปกติจะหายไปได้เองในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ภาวะหรือปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น หมู่เลือดระบบเอบีโอเข้ากันไม่ได้ แม่และเด็กที่มีหมู่เลือดต่างกัน อาจทำให้เลือดผสมกันระหว่างอยู่ในครรภ์หรือขณะคลอด และเป็นสาเหตุให้เด็กตัวเหลืองได้ หมู่เลือดระบบอาร์เอชต่างกัน กรณีที่แม่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบและลูกมีหมู่เลือดอาร์เอชบวก ภูมิต้านทานที่แม่สร้างขึ้นจะทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกจนแตกออก ส่งผลให้เด็กมีภาวะตัวเหลืองตามมา โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 หรือคนที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น หญิงที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะนี้ในเด็กแรกเกิด ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เด็กที่มีภาวะขาดไทรอยด์ เนื่องจากไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง อาจส่งผลให้มีภาวะตัวเหลือง รวมทั้งอาจมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เช่น หน้าบวม ลิ้นยื่น หรือสำลักบ่อย   โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่งผลให้เด็กมีภาวะตัวเหลือง อาเจียน งอแง ร้องไห้บ่อย ไม่ยอมดูดนม และมีไข้สูง ท่อน้ำดีอุดตันหรือถุงน้ำดีผิดปกติ เช่น โรคท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิด อาจก่อให้เกิดภาวะความเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมักมีอาการตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด มีไข้ น้ำหนักตัวลด รู้สึกคัน คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการปวดท้องด้านบนขวาร่วมด้วย ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า เป็นโรคที่ร่างกายขาดเอนไซม์ G6PD ซึ่งช่วยทำให้เม็ดเลือดแดงและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายแข็งแรง ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวเร็วเกินไป จนมีสารบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น Crigler-Najjar Syndrome เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เด็กที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะขาดเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนรูปร่างหรือโครงสร้างของบิลิรูบิน เพื่อให้ร่างกายกำจัดออกได้ง่าย ระดับบิลิรูบินในเลือดจึงสูงและมีอาการตัวเหลืองตามมา    การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจะมีภาวะตัวเหลือง รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายต่ำ ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาเจียน เป็นต้น ตับทำงานบกพร่อง อาจทำให้ไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกได้ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เป็นภาวะที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้มีปริมาณบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น มีเลือดออกภายในร่างกาย เช่น เลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ เด็กที่มีภาวะนี้อาจรู้สึกเจ็บปวด งอแง ตัวเหลือง และอาจเกิดภาวะช็อกได้ หากมีเลือดออกมาก การวินิจฉัยเด็กตัวเหลือง   โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาภาวะตัวเหลืองภายใน 72 ชั่วโมง หลังเด็กคลอด โดยดูจากสีผิว สีของตาขาว สีเหงือก รวมถึงสีปัสสาวะหรืออุจจาระ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง แพทย์จะตรวจวัดระดับบิลิรูบินในเลือด เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ ซึ่งวิธีตรวจที่อาจนำมาใข้ มีดังนี้   การใช้เครื่องมือวัดระดับบิลิรูบินผ่านทางผิวหนัง (Bilirubinometer) เป็นการคัดกรองภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด โดยใช้เครื่องมือนี้ส่องไฟลงบนผิวหนังของเด็ก จากนั้นเครื่องจะช่วยคำนวณระดับของบิลิรูบินในร่างกายด้วยการวิเคราะห์แสงที่ถูกดูดซับหรือสะท้อนออกจากผิวหนัง การตรวจเลือด กรณีที่เด็กมีอาการตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หรือมีค่าบิลิรูบินสูงมากจากการตรวจด้วยเครื่องมือวัดผ่านทางผิวหนัง แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดจากส้นเท้าของเด็กเพื่อวัดระดับบิลิรูบินในเลือดและนำผลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจว่าเด็กควรได้รับการรักษาหรือไม่ การตรวจอื่น ๆ หากเด็กตัวเหลืองนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด              ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบอาร์เอช ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบเอบีโอ ตรวจภาวะโลหิตจาง ตรวจสารก่อภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านหมู่เลือดและเม็ดเลือดแดงของลูก ตรวจหาการติดเชื้อ ตรวจหาภาวะขาดไทรอยด์ ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าอาการจะแสดงออกมา ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของทารก โดยตรวจดูสีของดวงตา หรือใช้นิ้วกดเบา ๆ บนปลายจมูกหรือหน้าผากเพื่อตรวจว่าผิวเป็นสีเหลืองหรือไม่ รวมถึงสังเกตสีของอุจจาระและปัสสาวะของทารก หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์ทันที การรักษาเด็กตัวเหลือง อาการตัวเหลืองที่ไม่รุนแรงจะหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีระดับสารบิลิรูบินในเลือดสูง แพทย์อาจใช้การรักษาเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีดังต่อไปนี้   การส่องไฟรักษา เป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือด โดยแสงจากเครื่องฉายแสงจะช่วยเปลี่ยนรูปร่างหรือโครงสร้างโมเลกุลของบิลิรูบินให้ร่างกายขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะหรืออุจจาระ ซึ่งแสงแดดจากธรรมชาติไม่อาจช่วยรักษาภาวะนี้ได้ การเปลี่ยนถ่ายเลือด แพทย์จะใช้วิธีนี้กับเด็กที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น รวมทั้งเด็กที่เริ่มแสดงอาการทางสมอง หรือมีภาวะตัวเหลืองเนื่องจากมีหมู่เลือดระบบอาร์เอชต่างจากแม่ โดยเป็นการรักษาที่ช่วยให้ระดับบิลิรูบินในร่างกายลดลงเร็วขึ้น การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือด (IVIg) ในกรณีที่ภาวะตัวเหลืองเกิดจากเลือดของแม่และเด็กไม่เข้ากัน สารก่อภูมิคุ้มกันจากแม่จะจับตัวกับเม็ดเลือดแดงของทารกจนทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าทางเส้นเลือดจะช่วยลดระดับสารก่อภูมิคุ้มกันและอาจลดภาวะตัวเหลืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับการถ่ายเลือด กรณีที่เด็กมีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุอื่น ๆ การรักษาจะแตกต่างตามสาเหตุ ดังนี้ ภาวะตัวเหลืองจากการดูดนม แพทย์จะแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภาวะท่อนํ้าดีตีบในเด็กแรกเกิด แพทย์จะพิจารณาให้เด็กรับการผ่าตัด เพื่อลดการคั่งของน้ำดีที่ตับ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ และอาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อประคับประคองอาการร่วมด้วย ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กําเนิด แพทย์จะรักษาโดยให้ให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน เพื่อลดอาการตัวเหลือง ภาวะแทรกซ้อนของเด็กตัวเหลือง ระดับบิลิรูบินที่สูงจนมีอาการตัวเหลืองรุนแรงนั้น หากไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อไปนี้ สมองพิการอย่างเฉียบพลันจากบิลิรูบิน (Acute Bilirubin Encephalopathy) หากเด็กมีภาวะตัวเหลืองรุนแรง สารบิลิรูบินอาจแพร่ไปยังสมองและทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย โดยเด็กอาจแสดงอาการต่อไปนี้ร่วมกับอาการตัวเหลือง เซื่องซึม ตื่นยาก ไม่ยอมดูดนม   ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน มีไข้ คอและหลังแอ่น   เคอร์นิกเตอรัส (Kernicterus) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อสมองได้รับความเสียหายถาวร เนื่องจากภาวะสมองพิการอย่างเฉียบพลันจากบิลิรูบิน ซึ่งจะแสดงอาการ ดังนี้ ระยะแรก เด็กมีอาการเซื่องซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก เกร็ง หลังแอ่น ชัก และมีไข้ ระยะยาว ร่างกาย แขน ขา รวมทั้งลูกตาเคลื่อนไหวผิดปกติ ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้ และมีความผิดปกติของการได้ยินร่วมด้วย ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ และอาจมีระดับสติปัญญาลดลง ซึ่งความผิดปกติทางสมองเหล่านี้ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ การป้องกันเด็กตัวเหลือง เด็กตัวเหลืองเป็นภาวะที่ป้องกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรตรวจหมู่เลือดเพื่อป้องกันภาวะเลือดไม่เข้ากันของแม่และลูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ส่วนเด็กที่มีภาวะตัวเหลืองหลังคลอด แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็กมีอาการตัวเหลืองรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ ให้เด็กดูดนมแม่ 8-12 ครั้ง ต่อวัน ในช่วงแรกคลอด เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยขับสารบิลิรูบินออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น กรณีที่ให้เด็กดื่มนมผง ควรป้อนนมเด็กปริมาณ 1-2 ออนซ์ ทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ทั้งนี้ เด็กแรกเกิดหรือหรือเด็กที่มีขนาดตัวเล็กอาจให้ดื่มนมในปริมาณที่น้อยกว่านี้ และควรปรึกษาแพทย์หากเด็กตื่นมาดูดนมน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน หรือหากไม่แน่ใจว่าควรให้นมเด็กในปริมาณมากน้อยเพียงใด   นอกจากนี้ ควรสังเกตเด็กแรกเกิดในช่วง 5 วันแรกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลืองควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
Read more
 profile icon
Write a reply