ว่าด้วยเรื่องของวัคซีน

#ว่าด้วยเรื่องของวัคซีน มีคนถามบ่อย ๆ เลยว่า คนท้องฉีดวัคซีนได้ด้วยเหรอ แล้ววัคซีนอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับคนท้อง มาดูกันว่า สำหรับหมอ เตรียมตัวยังไงบ้าง แล้วเตรียมความพร้อมของคนในครอบครัวยังไงบ้าง ● เริ่มตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ก็ตรวจภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน ว่ามีภูมิคุ้มกันหรือยัง โชคดีว่ามีภูมิแล้ว ก็เลยไม่ได้ฉีดวัคซีนซ้ำ แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่มีภูมิ จะต้องทำยังไง ก็ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ ซึ่งจะมีวัคซีนในรูปแบบของวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน คางทูม ทำไมต้องตรวจภูมิหัดเยอรมัน เพราะว่า หัดเยอรมัน ถ้าเป็นในคนท้อง จะทำให้ทารกเกิดมาพิการรุนแรงได้นั่นเอง และหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ก็ให้เว้นช่วงการมีบุตร 1-3 เดือน แล้วแต่ reference เพราะวัคซีนรวมชนิดนี้เป็นวัคซีนตัวเป็นที่ห้ามฉีดในคนท้อง แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานของทารกพิการจากการฉีดวัคซีนก็ตาม แต่เนื่องจากเมื่อสองปีก่อน มีการระบาดของโรคหัดในหมู่นักศึกษาแพทย์ในที่ทำงาน จึงมีการฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูมให้กับบุคลากร หมอจึงได้รับวัคซีนอีกครั้ง (ตอนนั้นแอบเครียดนิดหน่อย เพราะว่าอยู่ในช่วงกระตุ้นไข่ เตรียมเก็บไข่พอดี) และในช่วงระหว่างท้อง เมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวว่าหัดระบาดที่ภาคใต้ บางกระแสบอกว่าเป็นหัดเฉย ๆ บางกระแสบอกว่าเป็นหัดเยอรมัน ตอนนั้นจึงไม่รอช้า รีบยกหูโทรศัพท์ไปหาพ่อกับแม่ที่อยู่ภาคใต้ ให้ไปฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูมโดยด่วน รบกวนอาจารย์บาสช่วยจัดการให้ พร้อมกับฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปด้วยเลย แล้วก็จัดการสั่งวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม มาฉีดให้คนที่บ้าน ทั้งสามี พ่อแม่พี่น้องสามีทุกคนโดนฉีดโดยถ้วนหน้ากัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครต้องป่วยเป็นหัดเยอรมัน แม้ตัวหมอเองจะมีภูมิแล้วก็ตาม ● เมื่อตั้งครรภ์ วัคซีนที่จะต้องได้ในคนท้อง ก็มีหลัก ๆ 2-3 ตัว 1. ไข้หวัดใหญ่ ปกติก็จะฉีดที่ทำงานทุกปีอยู่แล้ว เพราะอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง (บุคลากรทางการแพทย์) แล้วทำไมคนท้องต้องป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะถ้าคนท้องป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้น การป้องกันจึงดีที่สุด เพราะเหตุนี้จึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จริง ๆ หมอฉีดไปแล้วตั้งแต่ก่อนท้องไม่นาน แต่ตอนท้อง ก็ไปฉีดซ้ำอีกครั้งช่วงประมาณ 20 กว่าสัปดาห์ เพราะกำลังจะเข้าช่วงระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตามคำแนะนำก็แนะนำว่าถ้าหากเข้าสู่ไตรมาสสองและสามช่วงที่ระบาด ก็อาจจะพิจารณาฉีดซ้ำอีกครั้ง และแน่นอนว่า ฉีดหมอคนเดียว ก็ยังรู้สึกไม่เพียงพอ (ใจหมอเอง) ก็เลยฉีดให้คนทั้งบ้านด้วย เอาเป็นว่าหมอจะไม่ยอมเสี่ยง contact โรคเลยนั่นเอง ทุกคน จึงโดนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีก 1 เข็ม (ยกเว้นคนที่เพิ่งฉีดของปีนี้มาแล้ว) 2. บาดทะยัก เนื่องจากหมอฉีดกระตุ้นตามรอบของที่ทำงานไปไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำในตอนตั้งครรภ์ (จริง ๆ ฉีดบาดทะยักแทบทุกปี เพราะที่ทำงานฉีดให้) แต่ถ้าใครไม่เคยฉีดกระตุ้นเลย (ซึ่งต้องกระตุ้นทุก 10 ปี) หรือจำไม่ได้ ก็ต้องฉีดใหม่ 3 เข็ม ถ้าเคยฉีดกระตุ้นเกิน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ก็จะกระตุ้น 1 เข็ม รพ. ทั่ว ๆ ไป ก็ยังใช้เกณฑ์นี้อยู่ เรื่องของบาดทะยักนี้ มีความซับซ้อนเล็กน้อย ตรงที่จะคาบเกี่ยวกับวัคซีน Tdap หรือ วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งจะพูดถึงในข้อต่อไป 3. วัคซีน Tdap*** เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในคนท้องเลยล่ะ ***สำคัญมาก ติดดาวไว้เลย*** โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อป้องกันโรคไอกรนในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กตั้งแต่แรกคลอดถึงสองเดือน ที่จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันของโรคไอกรน โดยเด็กจะได้วัคซีนเข็มแรกตอนอายุหลังคลอด 2 เดือน เด็กจึงติดไอกรนได้ง่าย และอาการรุนแรง ในขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งมักจะเป็นคนแพร่เชื้ออาการจะไม่รุนแรง และอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นไอกรน เมื่อก่อน มีคำแนะนำว่า ให้ฉีดวัคซีน Tdap ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ใหญ่ทุกคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดเด็ก เพื่อลดคนที่เป็นโรคและมาสัมผัสเด็ก เรียกว่า cocoon strategy เพื่อป้องกันโรคไอกรนในเด็ก (cocoon คือ รังไหม) แต่ว่าไม่ค่อยได้ผลนัก เนื่องจากพวกผู้ใหญ่ไม่ค่อยจะยอมฉีดกันนั่นเอง สุดท้ายปัจจุบันก็เหลือคำแนะนำว่า ฉีดให้คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 27-36 สัปดาห์ก็แล้วกัน เพราะเชื่อว่าช่วงนี้จะมีภูมิคุ้มกันส่งผ่านไปยังลูกได้ ไม่ได้ฉีดคนอื่น ๆ ฉีดแม่ให้ภูมิไปที่ลูกก็ยังดี และแนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกท้อง ทีนี้เนื่องจากเป็นวัคซีนรวม มีบาดทะยักด้วย ดังนั้น เพื่อให้ไม่สิ้นเปลืองและไม่ต้องจิ้มหลายรอบ หากหญิงตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องได้บาดทะยักกระตุ้นอยู่แล้ว ก็ให้ฉีด Tdap ช่วง 27-36 สัปดาห์แทนบาดทะยักไปเลย และถ้าหากจะต้องได้ 3 เข็ม ก็กะระยะ ให้สามารถให้ Tdap แทนวัคซีนบาดทะยักเข็มใดเข็มหนึ่งให้ตรงช่วง 27-36 สัปดาห์นั่นแหละ ปัญหาสำหรับประเทศไทย คือ อะไรรู้มั้ย วัคซีนรวม Tdap ไม่ฟรี ต้องจ่ายเองไม่ว่าสิทธิอะไร ราคาประมาณ 500 บาทสำหรับ รพ.รัฐ แต่บาดทะยักธรรมดา ฉีดฟรีในบางสิทธิ บางครั้งแนะนำคนไข้ไป คนไข้หลายคนเองก็ยังปฏิเสธการฉีด Tdap อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจก็ขึ้นกับคนไข้เป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องบังคับ สำหรับหมอ รู้สึกว่าเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด จึงวางแผนว่านอกจากฉีดเองแล้ว ทุกคนในบ้านก็ต้องฉีดด้วย (รวม ๆ ทั้งหมดก็โดนกันไปคนละ 3 เข็ม แต่ไม่มีใครบ่นนะ 555) มีอยู่ช่วงนึงวัคซีนขาดตลาด กว่าจะได้ยามา ก็ผ่านไปเกือบสองเดือน ตอนนี้ก็กำลังทยอยฉีดให้ผู้ใหญ่ในบ้าน คงจะหมดแค่นี้สำหรับเรื่องวัคซีนที่จำเป็น โดยสรุป คือ ในคนท้อง ก็ควรต้องฉีดไข้หวัดใหญ่ กับ Tdap ส่วนผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในบ้าน (ของหมอ) ก็โดนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap) นั่นเอง (ต้องบอกก่อนว่าความจำเป็นของการรับวัคซีนของคนในครอบครัว แต่ละครอบครัวแตกต่างกัน อาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนตามนี้นะคะ สำหรับหมอ ถ้าไม่มีการระบาดของหัดในช่วงที่ท้องพอดี ก็คงไม่ได้ให้คนที่บ้านไปฉีดเหมือนกันค่ะ) คือ รู้สึกว่าเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน อะไรที่จะลดความเสี่ยงได้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก ก็ขอทำเถอะ อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ต้องมาเสียดายทีหลังว่าทำไมเราถึงไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ และโชคดีมาก ๆ ที่ทุกคนให้ความร่วมมือ หมอเมษ์

2 ตอบกลับ
undefined profile icon
เขียนข้อความตอบกลับ
VIP Member

ขอบคุณค่ะได้ความรู้เพิ่มเติมดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ❤