8 ตอบกลับ
วิธีเร่งคลอด ก่อนจะเร่งคลอด คุณหมอจะตรวจดูความพร้อมของปากมดลูกก่อน ถ้าปากมดลูกเริ่มนุ่มแล้ว การเร่งคลอดมักจะได้ผลดี แต่ถ้าปากมดลูกยังแข็งอยู่ การเร่งคลอดมักจะไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้ต้องผ่าตัดทำคลอดคุณแม่ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการเร่งคลอดจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี และแพทย์อาจใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันก็ได้ เช่น การเจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy) ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอแล้วแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอจะเจาะถุงน้ำคร่ำให้เมื่อปากมดลูกเปิดได้ประมาณ 3 เซนติเมตร (การเจาะไม่ทำให้คุณแม่เจ็บปวดแต่อย่างใด) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น เพราะเมื่อถุงน้ำแตกแล้ว ศีรษะของทารกจะเลื่อนตัวต่ำลงมามากขึ้นและไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด และยังไปกระตุ้นให้สารเคมีพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น จึงช่วยให้มดลูกเกิดการหดตัว นอกจากนี้ยังทำให้หมอตรวจภายในได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยว่าท่าของลูกอยู่ในลักษณะใด เพื่อจะได้เตรียมการช่วยเหลือการคลอดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ลักษณะของน้ำคร่ำที่ออกมายังช่วยบอกสภาพของลูกได้ว่าปกติหรือเริ่มผิดปกติ เช่น ถ้าน้ำคร่ำเป็นสีขาวใสหรือขุ่นก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าเป็นสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่าผิดปกติ หมอจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะเร่งให้คลอดในเวลาจำกัด ถ้าคลอดไม่ได้ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัย (หลังจากเจาะถุงน้ำคร่ำไปแล้วนานประมาณ 30 นาที มดลูกยังไม่หดรัดตัวดีขึ้น คุณหมอจะใช้ยาเร่งคลอดร่วมด้วย) การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ หรือ การกวาดปากมดลูก (Membrane stripping, Membrane sweeping) ถือเป็นวิธีการเร่งคลอดอีกวิธีที่ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยและได้ผลดี สูติแพทย์จะใช้นิ้วกวาดปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด การใช้วิธีนี้สามารถช่วยลดการตั้งครรภ์เกินกำหนด ลดการใช้ยาเร่งคลอด โดยไม่เพิ่มการติดเชื้อทั้งในคุณแม่และทารก และไม่เพิ่มโอกาสการผ่าคลอดแต่อย่างใด จากการศึกษาในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ พบว่าหลังการใช้วิธีนี้คุณแม่จำนวน 2 ใน 3 เกิดการเจ็บครรภ์คลอดตามมาภายใน 72 ชั่วโมง (ถ้าทำสำเร็จคุณแม่มักจะมีการเจ็บครรภ์คลอดภายใน 24-48 ชั่วโมง) ยาเร่งคลอด (ฮอร์โมนออกซีโตซิน – Oxytocin) เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ ไม่เนิ่นนาน ตามปกติแพทย์จะใช้ทั้งในกรณีที่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เพื่อเร่งให้เร็วขึ้น และในกรณีที่ยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์มีปัญหา หากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อลูกหรือแม่ได้ ยานี้ก็ช่วยเร่งให้เจ็บครรภ์ได้เร็วและทำให้การคลอดสิ้นสุดได้เร็ว แต่การใช้ยาเร่งคลอดจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าการคลอดตามธรรมดา เพราะยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลักว่าสมควรจะเร่งคลอดในรายใดบ้าง ในปัจจุบันยานี้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะหมอสามารถกำหนดได้ว่าคุณแม่จะคลอดในเวลาเท่าไร และถ้าไม่คลอดก็แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ศีรษะของทารกโตเกินกว่าจะออกจากอุ้งเชิงกรานได้ หรือเด็กแหงนหน้า ซึ่งเมื่อทราบอย่างนี้แล้วหมอก็จะได้ตัดสินใจช่วยโดยการผ่าคลอด ไม่ต้องรอข้ามวันเพื่อให้คุณแม่คลอดเอง ในการให้ยาเร่งคลอดนี้ เมื่อให้แล้วจะมีคนคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยตรวจดูว่ามดลูกหดรัดตัวเร็วเกินไปหรือแรงมากไปหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจนได้ หมอก็จะได้ปรับน้ำเกลือให้เข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ (ยานี้เวลาให้ จะผสมกับน้ำเกลือครับ) การใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) นับเป็นวิธีล่าสุดที่ใช้ในการเร่งคลอด ยาที่ใช้มีทั้งรูปแบบของเจลและแบบที่เป็นยาเหน็บช่องคลอดโดยสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มลงและเปิดขยาย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกดีขึ้น แต่การใช้ยานี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาจะทำให้มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรงได้
กรณีที่ควรเร่งคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ (Postterm pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมจนไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อีกต่อไป จึงอาจทำให้ขาดออกซิเจนและอาหารได้ คุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลเกรงว่าอาจจะไม่ทันกาล ซึ่งอาจทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes) หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้ ทารกในครรภ์เติบโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อย (Severe fetal growth restriction) เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์, คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า ความดันโลหิตสูง (Gestational hypertension) หรือ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia, Eclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ เพราะเนื้อเยื่อรกบางส่วนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis) ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta) ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Fetal death) หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานเกินไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ เพราะอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้
การเร่งคลอด การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด (Induction of labor) คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยการอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งการคลอดหรือการยุติการตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลดีมากกว่าให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่ไม่สามารถรอธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้เจ็บครรภ์คลอดได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องให้มีการเร่งคลอดเกิดขึ้นเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์เอาไว้ สำหรับเหตุผลทางการแพทย์นั้นมักจะเกี่ยวกับสุขภาพของทารก เพราะถ้าปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไปก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ได้ เช่น คุณแม่มีความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน ตกเลือดก่อนคลอด ภาวะที่การทำงานของรกหรือการเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนด ฯลฯ นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ที่กล่าวมาแล้ว บางครั้งคุณหมออาจอนุโลมให้เร่งคลอดได้หากคุณแม่มีอายุครรภ์ครบกำหนดแล้วและที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลจนทำให้เดินทางไม่สะดวก เกรงว่าจะเดินทางมาโรงพยาบาลไม่ทันเมื่อเจ็บครรภ์จริง ส่วนคุณแม่ที่ดูฤกษ์ยามงามดีเอาไว้ เพราะอยากให้ลูกคลอดตามวันพิเศษต่าง ๆ หรืออยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วขึ้น อาจเป็นการเร่งคลอดที่ไม่มีเหตุสมควรเท่าใดนัก เพราะการเร่งคลอดที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะลงท้ายด้วยการผ่าคลอด และทารกที่เกิดจากการเร่งคลอดเร็วเกินไปก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการหายใจได้
กรณีที่ห้ามเร่งคลอด ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรงหรืออาจอยู่ในท่าที่ไม่สามารถเร่งคลอดได้ เช่น ทารกท่าก้น หรือท่าขวาง มีรกเกาะต่ำ (Placenta previa) เพราะรกจะไปกีดขวางการคลอดได้ มีภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ (Vasa previa) มีภาวะสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse) คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป ในกรณีนี้คุณหมอจะไม่เร่งคลอดให้ เนื่องจากจะคลอดได้ยากและอาจทำให้ทารกบอบช้ำจากการเร่งคลอดได้ คุณแม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรง ปากมดลูกขยายตัว และอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้ คุณแม่เคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรงและกล้ามเนื้อบริเวณแผลเป็นไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งอาจจะทำให้แผลปริหรือแตกได้ คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกจะทำให้มดลูกบาง ถ้าเร่งคลอดก็อาจทำให้แผลฉีกขาดได้
วันนี้ผึ่งโดนกระตุ้นไปค่ะเป็น1เซนเอง แต่กับบ้านมาก้ไม่มีวี่แววจ่ะเจ็บท้องรย รุ้นเหมือนกันค่ะ ตอนนี้ก้39/สัปดาแร้ว อยากเห็นน่าแร้ว
38+4ค่ะ ปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือนร่วมกับท้องเเข็งบ่อยค่ะ วันนึงจะเป็น 5-6ครั้ง/วันเลยค่ะ จากตอน 7-8เดือน จะเป็นเเค่ วันละ2-3ครั้ง
ความเจ็บปวดที่งดงาม 😊🥰
เรา 39+4 (กำหนดคลอด 9 พ.ย.) เงียบกริบเลยค่ะ หมอนัดตรวจอิกที 11 พ.ย. อึดอัดมาก อยากคลอดบ้างแล้ว 😫😫😫
ขอบคุณค่ะ 😊✌🏻
ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ ตอนนี้ปวดท้องมาเปนช่วงๆเเล้วคะ เเต่ยังไม่ถี่มาก 😊🥰😊
Wannisa Sunanta