ปัญหาของนมตัน

#ยิ่งกลัวตันกลับยิ่งตันหนัก ปัญหาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมักมีอยู่ 3 ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้คุณแม่นั้นเจ็ลปวดรวดร้าวทั้งกายทั้งเต้าและทั้งใย นั่นคือ #นมแม่น้อย #หัวนมแตก และ #นมตัน โดยอาจลามไม่ถึงเต้านมอักเสบและฝีในเต้านมได้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ตอนนมน้อย ก็นอยด์ ก็เครียด ตอนนมมาก เอาออกไม่ทัน ก็ตัน ก็ปวด เหล่านี้เกิดจากอะไร และแก้อย่างไร วันนี้พ่อหมอจะลองสรุปให้เห็นภาพครับ แม่มือใหม่จะได้ไม่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดียวกันกับรุ่นพี่ ที่เจ็บมาเยอะ ผ่านมาเยอะกว่าหัวนมจะเทิร์นโปรอย่างทุกวันนี้ ... เรื่องของ #นมตัน มักเกิดขึ้นจากตอนช่วงที่ "นมยังน้อย" นมอาจจะยังไม่พอกับความต้องการของลูก ซึ่งงแทนที่จะเน้นการกระตุ้นนมแบบธรรมชาติด้วย 3 ด. (ดูดเร็ว ดูดถูก ดูดสม่ำเสมอ) ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นมยังน้อย-ลูกก็หิวบ่อย-เข้าเต้าบ่อย-ดูดแรงขึ้น-นมก็มามากขึ้น ... กลับถูกตัดวงจรด้วยการกระตุ้นน้ำนมด้วยวิธีการอื่นที่เร็วเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการลักปั๊ม ขโมยปั๊ม พาวเวอร์ปั๊ม พร้อมกับยากระตุ้นน้ำนม อาหารกระตุ้นน้ำนม สมุนไพรกระตุ้นน้ำนม มาครบสูตร ... ซึ่งร่างกายของคุณแม่หลายคนก็ต้องยอมรับว่า "ไว" กับการกระตุ้นเหล่านี้พอสมควรทำให้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นแบบ "เกินพอ" ที่ลูกจะดูดได้หมด ... พอลูกดูดไม่ได้หมด นมก็ค้างในเต้า ทำให้นอกจากลูกดูดแล้วแม่ยังต้องมานั่งปั๊ม ซึ่งคราวนี้ไม่ได้ปั๊มเพื่อกระตุ้นแล้ว เป็นการปั๊มเพื่อระบายน้ำนมส่วนเกินออก ... หากตกรอบปั๊ม นมก็ตัน แต่เมื่อปั๊ม นมก็ยิ่งถูกกระตุ้นให้มามากขึ้นไปอีก กลายเป็นงูกินหาง ยิ่งทำยิ่งตัน แถมหลายคนที่เคยท่อน้ำนมตันมาก่อนจะเข็ดขยาดกับการตันมาก เพราะมันปวด ถูกไหมครับ และหากไปหาข้อมูลจะมีคนบอกว่าทุกครั้ง #ต้องเคลียร์เต้าให้เกลี้่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อน้ำนมตัน ... ซึ่งมันก็ถูก แต่มันก็ไม่ถูกไปพร้อม ๆ กันครับ แน่นอนว่าการเคลียร์เต้านั้นทำให้น้ำนมระบายออกมาได้มากที่สุด เหลือค้างน้อยที่สุด ท่อน้ำนมก็ไม่ตัน ตรงไปตรงมา ... แต่นั่นก็เป็นการกระตุ้นน้ำนมให้ไหลมากขึ้นกว่าเดิมอีก นมก็มากขึ้น ๆ. ๆ เรื่อย ๆ สุดท้ายตกรอบปั๊มนิดเดียว ตันอีกแล้ว ... จริง ๆ เริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน คือ เน้นเข้าเต้าเป็นหลักให้ลูกอิ่ม ปั๊มเพิ่มเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำสต็อก หรือนมมาไม่พอจริง ๆ และไม่ต้องเฆี่ยนมากเกินไป น้ำนมจะค่อย ๆ เพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พอลูกดูดพอ มีสต็อกพอใช้ แบบนี้ง่ายเลยครับ เพราะนมผลิตมาพอดีกับที่ลูกดูดแล้วอิ่ม หรือเหลืออีกเล็กน้อยที่พอเก็บสต็อกได้ แบบนี้ยังไงก็ไม่ตันครับ ละครเรื่องนี้จะจบแบบสวย ๆ ครับ แต่หากคุณแม่กำลังประสบปัญหางูกินหางของนมผลิตมากเกินพอ ตกรอบปั๊มไม่ได้เลย แนะนำแบบนี้นะครับ ... เราต้องค่อย ๆ ลดกำลังการผลิตน้ำนมลงให้ได้โดยที่ไม่ให้นมตัน ทำได้โดย #เน้นลูกเข้าเต้าเป็นหลัก กินให้พอ พอลูกกินอิ่ม หากน้ำนมยังเหลือในเต้าและยังไม่คัดมาก ดูว่ามีก้อนคัดในเต้าไหม หากมีก้อนคัด ให้ทำ #การเคลียร์ก้อน ไม่ใช้เคลียร์ให้หมดเต้า บีบมือหรือปั๊มออกจนก้อนหายไป ... แล้วพอ ไม่ต้องหมดเต้า รอเวลาลูกกินครั้งต่อไป หากไม่ทันคัดเต้า เต้าตึงก่อน บีบมือหรือปั๊มออก (เลือกแรงปั๊มที่ต่ำหน่อย) ให้พอหายคัดเต้า อาจจะ 3-5 นาทีพอ ไม่ต้องเอาออกหมด เพื่อรอลูกดูด พอลูกดูดก็ทำเหมือนเดิม เช็คก้อน มีก้อน เคลียร์ก้อน ไม่มีก้อน รอคัดเต้า คัดก่อนรอบลูกดูด-บีบออกพอคลายเต้า-ลูกดูด-เคลียร์ก้อน วนไปเรื่อย ๆ แบบนี้ สักพักน้ำนมก็จะค่อย ๆ ลดปริมาณลงในที่สุดครับ ส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาลดปริมาณน้ำนมครับ อวยพรให้นมไม่คัดด้วยบทเพลงของใบเตย อาร์สยามครับ "มันแน่นอก (เย) ก็ปั๊มออก (เย) ให้แบกเอาไว้นานไปเดี๋ยวมันไม่ออก มันแน่นอก (เย) ต้องยกออก (เย) นมเยอะอย่างงี้ปั๊มมากไปก็ยิ่งกระฉอก เช็คความตึงหน่อย baby ถ้าไม่เฟิร์มนะ honey ปั๊มแล้วเก็บเลย baby เย็นหน่อยนะน้อง ค่อยค่อยค่อยค่อยค่อยปั๊มนิดนึงพอดีกว่าไหม นี่เธอเล่นปั๊มสุด ๆ น้ำนมเธอมากไปไหน ปั๊มหมดปั๊มหมดปั๊มหมด ปั๊มหมดทีไรแล้วมัน (อู้) ท่อนมก็ยังจะตู้มตู้มตู้มตู้ม" อ่านยังไงไม่ให้มีทำนอง 555 ขอให้ทุกคนโชคดีไม่มีท่อนมตันครับ ย้ำ #อาหารมันเบเกอรี่และนมไม่ได้ทำให้นมตัน ไม่ต้องงดอาหารใด ๆ การตันเกิดจากการระบายน้ำนมไม่ทันผลิต + การกดทับกระแทกเต้าเท่านั้นครับ ระบายออกดี ก็ไม่ตัน จบครับ ไม่เกี่ยวกับอาหาร อย่าโทษอาหารเนอะ #หมอวินเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ

ปัญหาของนมตัน
1 ตอบกลับ
undefined profile icon
เขียนข้อความตอบกลับ

ขอบคุณคะ