3 ตอบกลับ
อาการปวดหลังเกิดขึ้น เพราะเมื่อตั้งครรภ์มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ครรภ์โตมากน้ำหนักของครรภ์ก็จะตกอยู่บริเวณหน้าท้อง ด้วยหลักเพื่อความสมดุลของร่างกาย ในการทรงตัวร่างกายก็จะต้องแอ่นตัวไปทางด้านหลังเพื่อรับน้ำหนักของครรภ์ให้อยู่ในจุดสมดุลของร่างกาย จึงทำให้เกิดการแอ่นของหลังขึ้น การแอ่นของหลังก็เท่ากับการแอ่นของกระดูกสันหลังนั่นเอง เมื่อกระดูกสันหลังแอ่นมากเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นได้ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ปวดเมื่อยหลังเมื่อครรภ์มีอายุมากขึ้นค่ะ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เมื่อครรภ์มากขึ้นตั้งแต่ 5 เดือนเป็นต้นไปความต้องการธาตุแคลเซียมสำหรับทารกมีมากขึ้น ทารกจะดึงเอาธาตุแคลเซียมจากกระแสเลือดคุณแม่ไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน และหากธาตุแคลเซียมในกระแสเลือดของคุณแม่มีไม่พอ ร่างกายก็ต้องควบคุมระดับธาตุแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ โดยเรียกเอาธาตุแคลเซียมมาจากกระดูกสันหลังนี้ ทำให้เกิดการกร่อนของกระดูกขึ้น ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นมาได้ในที่สุด คุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนจะมีอาการปวดหลังมากน้อยแตกต่างกัน และอาจปวดจนกระทั่งวันคลอดแต่หลังจากคลอดก็ยังคงปวดหลังไปอีกระยะหนึ่งได้ อาจจะเป็นเดือนหรือหลายเดือน เพราะกระดูกสันหลังที่เคยแอ่นระหว่างการตั้งครรภ์กำลังขยับขยายเข้าที่เดิม และกระดูกที่เคยกร่อนไปบ้างก็ยังคงกร่อนอยู่และกำลังรอให้ร่างกายปรับสมดุล คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ดังนี้ค่ะ ใช้ครีมแก้ปวดนวด ซึ่งก็พอจะช่วยบรรเทาไปได้บ้าง แต่นั่นเป็นเพียงการช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ใช่รักษาให้หายปวดอย่างเด็ดขาด ฟูกที่ใช้นอนควรจะเป็นฟูกที่ไม่อ่อนยวบยาบ และยุบไปตามน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้คุณแม่ปวดหลังมากยิ่งขึ้นควรนอนบนฟูกที่แข็งไม่ยุบตามน้ำหนักตัว นอนตะแคงแทนการนอนหงาย และกอดหมอนข้างที่แข็งๆ และหนาๆ ให้ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนหมอนข้าง จะทำให้น้ำหนักตัวและน้ำหนักครรภ์ไม่กดทับที่แขนอีกข้าง รวมถึงการนอนกอดหมอนข้างโดยงอเข่าและวางขาลงบนหมอนข้าง จะทำให้น้ำหนักตัวเกือบครึ่งหนึ่งถูกถ่ายลงไปยังหมอนข้าง ทำให้ลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนหลังไปได้มากค่ะ
บริหารกล้ามเนื้อท้องและเน้นให้กระดูกเชิงกรานทำงานให้ดีขึ้น ด้วยการบริหารง่ายๆ ด้วย ท่าแมว ซึ่งท่านี้จะเป็นการเลียนแบบท่าของแมวเวลาโก่งตัวเริ่มจากคุกเข่าในท่าคลานสี่ขา เหยียดหลังให้ตรงที่สุด จากนั้นหายใจเข้าให้เต็มปอด แล้วค่อยๆ โก่งหลัง แขม่วหน้าท้อง ดันสะโพกไปทางด้านหน้า พร้อมกับหายใจออก โดยพยายามโก่งหลังให้โค้งมากๆ (เท่าที่คุณแม่รู้สึกสบาย ถ้ารู้สึกเกร็งเกินไปแสดงว่าโก่งหลังเยอะเกินไป) เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนหลัง และเป็นการให้กล้ามเนื้อหน้าท้องทำงานได้เต็มที่ จากนั้นค่อยๆ ดันสะโพกกลับไปยังตำแหน่งเดิมและกลับเข้าสู่ท่าคลานสี่ขา ทำสลับไปมา 10 – 15 ครั้ง / รอบ บริหารแบบนี้ประมาณ 3 – 5 รอบต่อวัน หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ฝึกการนั่งให้ถูกต้อง ฝึกการนอนและลุกจากที่นอนที่ถูกต้อง
เอ็นยึดบริเวณหลัง ในสัปดาห์ที่30นี้ คุณแม่จะมีอาการปวดหลัง เนื่องจากเอ็นยึดและกล้ามเนื้อบริเวณหลังคลายตัว การนั่งในท่าโยคะ คือ เอาฝ่าเท้าชนกัน และมือทั้งสองข้างวางอยู่บริเวณรอบพับที่เข่า ให้หลังตรงชิดฝาจะทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้นนะคะ