ให้ลูกนอนคว่ำ นอนหงาย แบบไหนดีคะ

ตั้งแต่สมัยโบราณปู่ย่าตายายของเราจะให้ทารกเกิดใหม่นอนหงายกันส่งผลให้เด็กโตขึ้นหัวแบนราบกันเป็นส่วนใหญ่นะคะ ในยุคต่อมาคุณพ่อคุณแม่นิยมให้ทารกน้อยนอนคว่ำเพราะหัวจะได้ทุยสวย ยุคใหม่เปลี่ยนอีกแล้ว กุมารแพทย์แนะนำให้ทารกนอนหงายเพราะมีรายงานทางการแพทย์พบว่า อุบัติการการเกิดโรค Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) นั้นพบได้บ่อยในเด็กนอนคว่ำและพบต่ำสุดในเด็กนอนหงาย โรค SIDS นั้นคือโรคนอนหลับแล้วเสียชีวิตซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนค่ะ ข้อดีของการนอนคว่ำ ปอดจะทำงานได้ดีกว่าเนื่องจากไม่ถูกหัวใจกดทับ ทำให้ปอดขยายตัวได้ดีเวลาเด็กหายใจ มีผลให้ออกซิเจนในเลือดเด็กสูง เม็ดเลือดแดงก็นำเอาออกซิเจนนี้ไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป นอกจากนี้ในเด็กที่มีการท้นและสำรอกบ่อยๆ ซึ่งอาจเป็นจากหูรูดตรงรอยต่อของกระเพาะอาหารกับหลอดอาหารยังทำงานไม่ดีนัก ถ้าให้เด็กนอนคว่ำ อาหารหรือนมที่ท้นขึ้นมาจะได้แหวะกันออกไปให้หมดเรื่องหมดราวเลย อย่างมากก็เปลี่ยนผ้าปูที่นอนกันใหม่เท่านั้น แต่ถ้าจับนอนหงาย อาหารอาจย้อนเข้าหลอดลม ทำให้สำลัก เศษอาหารอาจไปอุดตันหลอดลม เกิดปอดแฟบ ปอดอักเสบตามมาได้ ข้อดีของท่านอนหงาย มีรายงานจาก European journal of Pediatric แนะนำว่าในเด็กที่มีปัญหาเรื่องอาหารที่มักท้นหรือสำรอก การรักษาโรคนี้ด้วยการนอนคว่ำ ในท่าที่ยกหัวสูง 30 องศา แม้จะได้ผลดี ลดการสำรอก สำลักลงได้ แต่เพราะพบว่าอุบัติการของโรค SIDS สูงในเด็กนอนคว่ำ จึงไม่แนะนำให้ใช้การนอนคว่ำเป็นการรักษาหลักของโรคอาหารท้นหรือสำรอกนี้ แต่จะใช้การรักษาอย่างอื่น (เช่น ให้ยา) ด้วย และจะใช้การนอนคว่ำรักษาเฉพาะในเด็กโตพ้นวัยที่จะเป็น SIDS (เด็ก 6 เดือนขึ้นไปไม่ค่อยเป็น SIDS) แล้วเท่านั้น แต่ในเด็กเล็กที่มีอาการปกติ ไม่มีปัญหาการท้นจะสามารถนอนหงายได้เลยและในปีพ.ศ. 2539 American Academy of Pediatrics ได้มีคำแนะนำให้เด็กทารกนอนหงาย โดยยกเหตุผลว่า ท่านอนหงายมีโอกาสเกิดโรค SIDS ต่ำกว่าท่านอนตะแคงและท่านอนคว่ำ นอกจากข้อดีของการนอนหงายที่เกี่ยวกับโรค SIDS แล้ว ยังพบว่าการนอนหงายยังมีข้อดีอีกเรื่อง คือ ในเด็กที่มีปัญหา ขาบิด ขาเก ที่มีต้นเหตุมาจากการที่หัวกระดูกต้นขาหมุนไม่ถูกต้อง ถ้าเราจับเด็กนอนหงาย เด็กจะสามารถยกแข้ง ยกขา ขยับเขยื้อน ออกกำลังขาได้อย่างอิสระ มีโอกาสให้ขาที่บิด บิดน้อยลง เรียกว่า ดีกว่าท่านอนคว่ำ ที่นอนเอาตัวเด็กทับขาไว้ ขยับไม่ค่อยจะได้ ลองนำข้อดีของการนอนคว่ำ หรือ นอนหงายไปปรับใช้กันดูนะคะคุณแม่
อ่านเพิ่มเติม