การรักษาการท้องนอกมดลูก เมื่อตรวจพบการท้องนอกมดลูก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาการเจริญพันธุ์ในอนาคต โดยตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกมดลูกจะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้อีก ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยการนำตัวอ่อนนั้นออกไป การรักษาการท้องนอกมดลูกขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวอ่อนที่ฝังตัวไปแล้ว และบริเวณที่ตัวอ่อนฝังตัว โดยแพทย์จะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยท้องนอกมดลูก ดังนี้ การใช้ยา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม แต่ยาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวกลายเป็นเนื้อเยื่อเจริญเติบโตต่อไป คือ ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) แพทย์อาจฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยแล้วคอยตรวจเลือดเรื่อย ๆ เพื่อดูผลการรักษา โดยการใช้ยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงคล้ายอาการแท้งลูก คือ ชาหรือปวดเกร็งหน้าท้อง มีเลือดและเนื้อเยื่อไหลออกจากช่องคลอด และผู้ป่วยจะยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นเวลาอีกหลายเดือนหลังการใช้ยา การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparotomy) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดสร้างรูเล็ก ๆ แล้วนำเครื่องมือชนิดพิเศษสอดเข้าไปในรู หนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น คือ กล้องขยายขนาดเล็ก แพทย์จะสามารถมองเห็นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการผ่าตัดด้วยภาพจากกล้องตัวนี้ แล้วนำตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกออกไป รวมถึงทำการรักษาซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับความเสียหาย หากเนื้อเยื่อบริเวณท่อนำไข่เกิดความเสียหายมาก แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไปด้วย การรักษาภาวะอื่น ๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการท้องนอกมดลูก เช่น ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก อาจจะต้องได้รับเลือดทดแทน ภาวะอักเสบติดเชื้อ อาจต้องได้รับยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
เพื่อนเราคะ หมอผ่าเอาปีกมดลูกออก1ข้าง