#แม่เจ็บหัวนมจังเลย..ทำอย่างไรดี
.
แม่ให้นมแทบทุกคน ย่อมมีประสบการณ์เจ็บหัวนม มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจเจ็บมากจนอาจทำให้คุณแม่หลายท่านถอดใจอยากเลิกให้ลูกดูดเต้า ทั้งๆที่เดิมเคยตั้งใจไว้อย่างมากว่าจะให้ลูกดูดนมให้นานที่สุดก็ตาม ...แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งเลิกค่ะ จนกว่าจะได้อ่านโพสต์นี้จบก่อน ปัญหาที่มีอยู่ ก็จะหมดไปค่ะ
.
..อาการเจ็บหัวนมในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด และ เป็นแค่ตอนลูกเข้าเต้าตอนแรก แต่ไม่ได้เจ็บตลอดการดูดนม ถ้าเป็นอาการเจ็บหัวนมอย่างมากที่เป็นนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ หรือ เจ็บตลอดการดูด ..ไม่ใช่เรื่องปกติของแม่มือใหม่ที่ให้นมลูก
.
แต่ถ้ายังมีปัญหาหัวนมแตกหรือเจ็บหัวนมไม่หายต่อเนื่อง ควรรีบแก้ไขปัญหาทันที อย่ารอนานเกินไป เพราะยิ่งเร็ว ยิ่งง่ายต่อการแก้ไขปัญหา ต่อไปนี้ คือ 7 ปัญหาที่พบบ่อยของอาการหัวนมแตก รวมถึงวิธีป้องกัน และ แก้ไขในเบื้องต้น
.
1...ท่าดูดผิด เช่น อุ้มลูกมาดูดแบบเป็นม้วนเป็นห่อ ทำให้แขนลูกมากั้นอยู่ระหว่างตัวลูกกับเต้านมคุณแม่ หรือ อุ้มลูกอยู่ในท่านอนหงาย หันแต่ศีรษะลูกมางับหัวนม หรือ อุ้มลูกไม่แน่นหนา ลำตัวลูกหล่นลงไปที่ตักของคุณแม่ หรือ ลูกชอบดูดๆ ผละๆ เข้าๆ ออกๆ จากหัวนม จะทำให้เกิดการดึงรั้งหัวนม ทำให้หัวนมแตก
.
วิธีแก้ไข คือ อย่าอุ้มมาดูดแบบมัวนผ้า ให้คลี่ผ้าออก แขนทั้งสองข้างไม่มากั้นขวางระหว่างตัวลูกกับเต้านมคุณแม่ จัดท่าให้ลูกตะแคงทั้งลำตัวและศีรษะ และ จัดลำตัวลูกไม่ให้ห้อยตกลงไปที่หน้าตัก แต่ไม่จำเป็นต้องหนีบด้วยแขนคุณแม่ไว้ตลอดเวลา เพราะจะเมื่อยแขนมาก แต่ให้ใช้หมอนมาหนุนแทน ถ้าได้ตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ต้องรักษาตำแหน่งไว้ให้ดี ไม่ให้หลุดง่ายๆ
.
2...การดูแลหัวนมผิดวิธี เช่น อาบน้ำอุ่น ฟอกสบู่ เช็ดหัวนมด้วยสำลี การแพ้แผ่นซับน้ำนม
.
วิธีที่ถูกต้อง คือ อาบน้ำอุณหภูมิปกติ เพราะนำ้อุ่นทำให้ผิวแห้งแตกง่าย อย่าตั้งใจฟอกสบู่ที่หัวนม ให้ฟอกที่อื่นได้ น้ำสบู่ไหลผ่านหัวนมได้ แล้วล้างน้ำออกตามปกติ ไม่ต้องบรรจงทำให้หัวนมสะอาดมากกว่าการอาบน้ำตามปกติ ระหว่างวัน ไม่ต้องใช้สำลีเช็ดหัวนมเพื่อทำความสะอาดก่อนลูกกิน แต่ให้ล้างมือให้สะอาด แล้วอุ้มลูกมาเปิดเต้านมกินนมได้เลย ลูกกินเสร็จ ให้บีบน้ำนมออกมา 2-3 หยดทาที่หัวนมและลานนมให้ทั่วๆ รอให้แห้ง แล้วค่อยปิดเต้าเก็บ ถ้าเป็นแผลแล้ว ให้ทาด้วยยา oral T paste บางๆ 2-3 วันแผลก็จะหาย เวลาลูกมากินครั้งต่อไป ไม่ต้องเช็ดยาออก ให้ลูกกินได้เลย เพราะถ้าเช็ดก็เป็นการรบกวนผิวหนัง ทำให้แผลไม่หาย
.
3...มีพังผืดใต้ลิ้น : เป็นเส้นเนื้อเยื่อที่ยึดลิ้นไว้กับพื้นปาก บางคนเส้นสั้นมากกว่าคนอื่น ทำให้แลบลิ้นออกมาได้ไม่เต็มที่ เวลาดูดนมจะเสียดสีทำให้หัวนมแตกง่าย ลูกเมื่อยลิ้น ลูกไม่ชอบดูดเต้า จะหงุดหงิด หรือ ดูดไปหลับไป ใช้เวลานาน น้ำหนักขึ้นไม่ดี โตขึ้นจะพูดไม่ชัด
.
วิธีตรวจดูว่ามีพังผืดใต้ลิ้น ทำโดยการใส่นิ้วเข้าไปแทรกระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นปาก จะทำได้ยาก ถ้าสงสัยว่าลูกมีปัญหานี้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขลิบเส้นบางๆนี้ออก
.
แก้ไขโดย การขลิบง่ายๆ เจ็บน้อยมาก ทำเสร็จดูดนมได้ทันที ทำได้ที่ รพ.ศิริราช รพ.เด็ก ซึ่งเชี่ยวชาญในการทำมากๆ
.
4...ปั๊มแรงเกินไป ขนาดกรวยเล็กไปใหญ่ไป ถ้าเจ็บมากปั๊มไม่ไหว ดูดก็ไม่ไหว ต้องใช้มือบีบนมออกจากเต้า อย่าคานมทิ้งในเต้า จะทำให้เกิดเต้านมอักเสบ และ น้ำนมลดลง
.
5...ติดเชื้อรา : จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน เหมือนมีดบาด และเจ็บตลอดเวลาที่ลูกดูดนม เชื้อราชอบที่อุ่น อับ และ ชื้น หัวนมจึงเป็นที่เหมาะสมสำหรับเชื้อราเป็นอย่างยิ่ง การป้องกันทำได้โดย อย่าใช้แผ่นซับน้ำนมชนิดที่ทำจากพลาสติก ให้ใช้ชนิดที่ทำจากผ้าฝ้าย ให้เปลี่ยนบ่อยๆอย่าให้ชื้นแฉะ เหมือนกับการดูแลเสื้อชั้นใน และ พยายามทำให้หัวนมไม่อับชื้น โดยให้สัมผัสกับอากาศบ่อยๆระหว่างมื้อนม ถ้าหากหัวนมเปียกน้ำลาย หรือ น้ำนม ให้รอให้แห้งก่อนเก็บปิดเต้า ถ้าอยากรีบแห้ง ให้เป่าด้วยลมเย็น
.
คนที่เป็นเชื้อราที่ผิวหนังบ่อยๆ การกินจุลินทรีย์ประจำถิ่นในร่างกาย อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นบ่อยๆได้ เช่น bioflor 1 เม็ด เช้า/เย็น
.
การรักษาหัวนมแตก จากการดูดผิดท่า หรือ เป็นเชื้อรา ให้ใช้นมแม่ทาที่หัวนมบ่อยๆ แล้วฝึ่งให้แห้ง ก่อนใส่เสื้อชั้นไน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ทายาครีมที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อรา ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย และ ยาสเตียรอยด์ (วิธีเตรียมยาครีมทาหัวนมที่ได้ผลดีมากๆ : 2% Mupirocin ointment + 15 grams Betamethasone 0.1 % ointment + 15 grams Miconazole powder)
.
6...ภาวะเส้นเลือดหดตัวแบบรุนแรงผิดปกติ (vasospasm) : อาจถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเย็นลง อาการ คือ ปวดแสบปวดร้อน เหมือนเข็มทิ่มแทงอย่างรุนแรง สีของหัวนมจะซีดลงอย่างรวดเร็วหลังลูกกินเสร็จ การใช้ยาขยายหลอดเลือด (nifedipine) ซึ่งปลอดภัยสำหรับการให้นมลูก จะช่วยลดอาการได้
.
7...ภาวะอื่นๆ : เช่น การตั้งครรภ์ จะทำให้คุณมีความรู้สึกไวที่หัวนมมากขึ้น ถ้าคุณยังรู้สึกเจ็บหัวนมต่อเนื่องหลังจากลูกดูดเสร็จแล้ว แนะนำให้ตรวจดูว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ผู้หญิงบางคนกลัวว่า อาการเจ็บที่หัวนมเกิดจากโรคมะเร็ง ความจริง คือ พบได้น้อยมากที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมาพบแพทย์ในระยะแรกด้วยอาหารเจ็บหัวนม ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องคลำได้ก้อนที่เต้านม หรือ เต้านมอักเสบ
.
อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรพบแพทย์ หากอาการเจ็บหัวนมเป็นเพียงเต้าเดียว หรือ อาการเจ็บไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาเบื้องต้นในโพสต์นี้ค่ะ
.
รูปประกอบแสดงภาพความกว้างของขนาดกรวยที่เหมาะสม เมื่อปั๊มนม ส่วนของหัวนมจะไม่เสียดสีกับท่อกรวย และลานนมจะไม่ถูกดูดเข้าไปอยู่ในท่อกรวย
#นมแม่ป้าหมอสุธีรา
Rossukon